หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

Jim Tomlinson featuring Stacey Kent : The Lyric / CD (MAJOR CHORD SSDJ-9184)


ALBUM The Lyric
ARTIST 
Jim Tomlinson feturing Stacey Kent

LABEL MAJOR CHORD (SSDJ-9184)
SONG:  10  SOUND:  10

ฟอร์แม็ต CD
ระบบเสียง PCM 44.1/16_stereo 2 ch
ระบบภาพ -
ปีที่ออก 2006
สังกัด Major Chord Records
เบอร์แผ่น SSDJ-9184
แนวเพลง Jazz
สไตล์ Cool Jazz
จำนวนแทรค 13
ซาวนด์ เอ็นจิเนียร์ xx
เร็คคอร์ดิ้ง สตูดิโอ  xx
มิกซ์ เอ็นจิเนียร์ xx
มิกซ์ดาวนด์ สตูดิโอ  xx
มาสเตอริ่ง เอ็นจิเนียร์ xx
มาสเตอริ่ง สตูดิโอ  xx

ในวงการเพลงแจ็สปัจจุบันนี้มีศิลปินหญิงอยู่สาม-สี่คนที่เห็นงานใหม่ของเธอเมื่อไรผมต้องหยิบทันทีโดยไม่ลังเล.. ซึ่งในจำนวนนั้นจะมีชื่อของ Patricia Barber กับ Stacey Kent ยืนอยู่ในลำดับต้นๆ ว่าแต่ว่า งานเพลงที่ผมกำลังจะพูดถึงชุดนี้ไม่ได้เป็นของบาร์เบอร์ หรือเค็นต์หรอกนะ มันเป็นงานของนักเป่าแซ็กโซโฟนหนุ่มรูปงามนามว่า Jim Tomlinson เขาต่างหาก แต่เหตุที่ผมต้องยกเอาประโยคที่อ้างอิงถึงศิลปินหญิงสองคนนั้นมาเกริ่นขึ้นต้นก็เพราะว่าเพลงในอัลบั้มชุดนี้เกือบทั้งหมดมี Stacey Kent เธอมาช่วยร้องให้เสียงอยู่ด้วยนั่นเอง และเรื่องของเรื่องก็เพราะว่าเสียงร้องของเธอในอัลบั้มชุดนี้มันช่างโดดเด่นเป็นสง่าเกินหน้าเกินตาเสียงแซ็กโซโฟนที่สามีเธอเป่าซะเหลือเกิน ผมจึงอดที่จะพาดพิงถึงเธอไม่ได้.!



จริงๆ นะครับ ถ้าไม่นับเพลงแรก (manha de carnival) และเพลงที่สิบสอง (outra vez) ซึ่งไม่มีเสียงร้องของเธอแล้วล่ะก็ ใครได้ฟังอัลบั้มชุดนี้ก็คงจะนึกว่าเป็นงานอัลบั้มของเธอเองแน่ๆ แต่จะว่าไปแล้ว นี่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัว Jim สามีเธอจะไม่มีฝีมือนะครับ ที่ออกมาได้ลักษณะนี้ต้องถือว่าเก่งแล้ว เพราะโดยธรรมชาติของนักดนตรีที่ถนัดมาทางเพลงบรรเลงที่ไม่มีเนื้อร้อง ถ้าเอามาเล่นเพลงบัลลาดที่มีเสียงร้องเป็นพระเอกอย่างนี้ก็มักจะเผลอทำตัวเด่นแย่งซีนของเสียงร้องเอาได้ง่ายๆ โดยไม่รู้ตัว ซึ่งจิมเองก็ดูเหมือนว่ามีความเข้าใจในประเด็นนี้ดีอยู่แล้ว สังเกตจากข้อความที่เขาบันทึกไว้ในปกแผ่น หัวข้อว่า ‘ทำไมต้องให้ชื่ออัลบั้มว่า lyric?’ ซึ่งเขาก็อธิบายเหตุผลเอาไว้ค่อนข้างดี สะท้อนให้เห็นถึงความปราดเปรื่องในเชิงดนตรีของเขาออกมาอย่างชัดเจน

พูดง่ายๆ คือเป็นมวยว่างั้นเถอะ..

ได้ฟังเพลงในอัลบั้มชุดนี้จบลงแล้ว ผมต้องลุกขึ้นไปค้นหาแผ่นซีดีอัลบั้ม Getz/Gilberto ชุดดังของ Stan Getz กับ Joao Gilberto มานั่งฟังเปรียบเทียบทันที เนื่องจาก Jim ได้เลือกหยิบเอาเพลง Corcovado ที่โจบิมกับจีน ลีส์ร่วมกันแต่งเนื้อร้องให้ Joao Gilberto กับ Astrud เมียของเขาร้องเอาไว้ในอัลบั้มชุด Getz/Gilberto มารวมไว้ในงานของเขาชุดนี้ด้วย

Corcovado เวอร์ชั่นที่อยู่ในอัลบั้มของจิม ทอมลินสัน (ร้องโดยสเตซี่ เค็นต์) นี้จะให้สปีดที่เนิบช้ากว่าเวอร์ชั่นที่อยู่ในอัลบั้มชุด Getz/Gilberto นิดหน่อย ในขณะที่อารมณ์ของเพลงก็ยังคงออกมาในลีลาที่นุ่มนวลเหมือนกัน เสียงร้องของ Astrud ท่อนแรกนั้นถ้าจะเทียบกันแล้วผมว่าสเตซี่ เค็นต์เธอร้องได้ดีกว่า โดยเฉพาะลักษณะการควบคุมน้ำเสียงนั้นจะเห็นได้ชัดว่าสเตซี่ เค็นต์ทำได้ดีกว่า ส่วนเสียงร้องของ Astrud นั้นจะโหนคีย์ไปนิด เสียงร้องจึงออกมาไม่ค่อยเต็มเสียง (จริงๆ แล้วเธอก็ไม่ใช่นักร้องอาชีพอยู่แล้ว) ส่วนเสียงแซ็กโซโฟนของ Stan Getz นั้นจะให้ความอบอุ่นและนุ่มนวลกว่าของจิมมาก แม้ว่าจะรู้สึกได้ชัดว่าจิมเองก็พยายามเป่าให้อบอุ่นมากแล้ว แต่เมื่อเทียบกับยอดฝีมืออย่างสแตน เก็ทต์ก็ต้องยอมรับล่ะครับว่ายังสู้ไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับห่างชั้นซะจนสุดกู่ ถ้าไม่เทียบกันก็โอเคแล้ว

เสียงกลองในแผ่น Getz/Gilberto มีการผ่อนน้ำหนักมือได้ดีกว่าเสียงกลองที่ Matt Skelton เล่นให้ในอัลบั้มชุดนี้ โดยเฉพาะเสียงฉาบนั้นในอัลบั้มชุด Getz/Gilberto จะออกมาเนียนหูกว่านิดนึง

นอกจากเพลง Corcovado แล้ว ยังมีอีก 2-3 เพลงที่ทำนองคุ้นหู ได้แก่ Something Happens To Me (แทรคที่ 10) กับเพลง Stardust (แทรคที่ 11) ซึ่งเพลงสตาร์ดัสนั้น Kent เธอร้องได้ดีมาก การบันทึกเสียงร้องในแทรคนี้ก็ทำได้ดีมาก และดูเหมือนว่าจะดีมากเป็นพิเศษกว่าเพลงอื่นๆ นิดนึง คือเก็บรายละเอียดมาได้ครบถ้วนไม่ตกหล่น ในตอนขึ้นต้นของเพลง Stardust คุณจะได้ยินเสียงร้องที่ก้องสะท้อนจากผนังห้องบันทึกเสียงกลับมาเบาๆ ด้วย ทำให้ฟังแล้วรู้สึกได้ถึงความกว้างขวางของสนามเสียงที่โอ่โถง ฟังแล้วเคลิ้มมาก รู้สึกเหมือนนั่งฟังเธอร้องอัดเสียงสดๆ อยู่ในสตูดิโอมากกว่าฟังจากแผ่นซีดีในห้องฟังเพลงที่บ้าน.!

เว่อร์รึเปล่า..?

ไม่เว่อร์ครับ สาบานได้ ถ้าลำโพงของคุณให้เสียงแหลมที่ไปได้สูงเกินสองหมื่นเฮิร์ตล่ะก้อ.. คุณจะได้ยินเสียงแอมเบี๊ยนต์ที่ผมว่าชัดมาก (ในเพลงที่หก What Are You Doing The Rest Of My Life ก็มีเสียงสะท้อนของเสียงร้องที่ชัดมากเช่นกัน) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง กับคนที่ใช้เครื่องเล่นซีดีหรือ CD Transport + External D/A ที่สามารถ Upsampling สัญญาณของซีดีแผ่นนี้ให้สูงขึ้นไปเกิน 44.1kHz ได้ก็จะยิ่งสัมผัสกับแอมเบี๊ยนต์ของซีดีแผ่นนี้ได้ชัดมากขึ้นไปอีก ในการทดลองฟังซีดีชุดนี้ ผมฟังผ่านภาค D/A ในตัว DAC/PRE ของ Stello รุ่น DP200 แล้วอัพสัญญาณขึ้นไปที่ระดับ 192kHz เสียงที่ได้ดีขึ้นกว่าตอนแปลงที่ระดับ 44.1kHz เยอะมาก (DAC ของ Stello ตัวนี้สามารถเปรียบเทียบเสียงได้ 4 ระดับตั้งแต่ 44.1kHz (bypass), 48kHz, 96kHz และ 192kHz)

ลิขสิทธิ์งานเพลงอัลบั้มชุดนี้เป็นของสังกัด Major Chord Records ซึ่งเป็นสังกัดที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน ส่วนบริษัทที่ได้รับสิทธิ์ในการจัดจำหน่ายชื่อว่า Sense Music อยู่ในสิงคโปร์ ทำการตลาดโดยบริษัท S2S อยู่ในสิงคโปร์เช่นกัน ผู้ผลิตซีดีแผ่นนี้น่าจะเป็นบริษัท Token Productions ซึ่งได้รับสิทธิ์มาจากบริษัท 0+ Music อีกที

ซีดีแผ่นนี้ไม่ใช่ออริจินัลเวอร์ชั่นของสังกัด Major Chord Records เจ้าของลิขสิทธิ์งานเพลงอัลบั้มชุดนี้โดยตรง ซึ่งผมเองก็ยังไม่ทราบว่าทางต้นสังกัดคือ Major Chord Records จะทำการผลิตอัลบั้มชุดนี้ออกมาวางขายรึเปล่า? ซีดีเวอร์ชั่นนี้ปั๊มมาจากมาสเตอร์ที่ผ่านการทำ Upsampling สัญญาณด้วยฮาร์ดแวร์ของ dCS ที่ระดับเรโซลูชั่น 24bit ก่อนที่จะ Downconvert ลงมาอยู่ที่ 16bit ก่อนปั๊มลงแผ่นซีดีแผ่นนี้ ดังนั้น ถ้าดิจิตัล-ฟร้อนต์เอ็นด์ของคุณสามารถอัพแซมปิ้งได้ ให้ทำการอัพฯ สัญญาณซีดีแผ่นนี้ขึ้นไปที่ระดับ 24bit เท่ามาสเตอร์ และเลือกดูว่ามันไปได้ดีลงตัวมากที่สุดกับระดับแซมปิ้งเรตที่เท่าไร? 96kHz หรือ 192kHz

เป็นซีดีที่บันทึกเสียงได้เนียนมาก คอนทราสน์ของเสียงมีความต่อเนื่องดีมาก ไม่ว่าจะเป็นการสวิงหนัก-เบาของเสียงดนตรีที่เป็นลักษณะของสัญญาณทรานเชี๊ยนต์อย่างกลอง, เปียโน กับอะคูสติกเบส หรือเสียงดนตรีที่เป็นลักษณะของสัญญาณที่เน้นความต่อเนื่องอย่างแซ็กโซโฟนกับเสียงร้องก็ออกมาดี ให้สปีดของเสียงดนตรีและเสียงร้องออกมาได้ตรงตามธรรมชาติ ที่จะต้องเร็วก็เร็วแต่ไม่เร่ง ส่วนที่จะต้องลากช้าก็เนิบนาบได้อารมณ์โดยที่ไม่รู้สึกว่าถูกดึงให้เฉื่อยช้าจนผิดสปีดไปจากของจริง (ลองฟังเพลง Stardust ดูเหอะ เพลงช้าๆ ไม่มีเครื่องเคาะคอยนำจังหวะอย่างนี้ ถ้าสปีดอัดมาไม่ดีจะฟังแล้วน่าเบื่อมาก แต่นี่ฟังแล้วเคลิ้มครับ..)

ถ้าถามถึงคะแนนในแง่เสียงสำหรับซีดีแผ่นนี้ ผมให้สิบคะแนนส่วนความไพเราะของเพลงผมก็เทใจให้สิบเต็มไปเลยเช่นกันครับ

ถึงแม้จะไม่ใช่งานส่วนตัวของเธอจริงๆ แต่ก็ต้องยอมรับว่า นี่คืออีกหนึ่งผลงานของ Stacey Kent ที่น่าฟังอย่างยิ่ง เป็นอีกหนึ่งอัลบั้มที่ถึงพร้อมทั้งในแง่ศาสตร์ของเสียงและแง่ศิลปะของเพลง พลาดไปเสียใจแย่ครับ..

..................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น