แนะนำ + วิจารณ์ ดนตรีบนสื่อบันทึกทุกชนิด รวมถึงดิจิตัลไฟล์ที่เน้นคุณภาพเสียงและความเป็นดนตรี
วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
Stuttgarter Kammerorchester : The Tube / CD (Tacet Records TACET 74)
ALBUM The Tube
ARTIST Stuttgarter Kammerorchester
LABEL Tacet Records Tacet 74
SONG: 10 SOUND: 10
Media Format CD
Sound Format PCM 44.1kHz/16bit_stereo 2 Ch.
Genre Classic
Style Chamber Classic
Release 1999
Track 21
Time 1:04:51
Made in Germany
แอมป์หลอดซิงเกิลเอ็นด์ กัน ดนตรีคลาสสิกยุคบาโรค (ค.ศ. 17) เขาว่าเป็นของคู่กัน ความเมลืองมลังของสถาปัตยกรรมปูนปั้นในโถงพระโรงที่โอ่อ่า กับความร่ำรวยของฮาร์มอนิกจากเครื่องสายของดนตรีแซมเบอร์ที่บรรเจิดจรัสนั้นดูช่างเหมาะสมกันดีซะเหลือเกิน เป็นรูปตราสัญลักษณ์แห่งความรุ่งเรืองของยุคสมัยวิทยาการเฟื่องฟูโดยแท้ ใครเขาว่าถ้าอยากจะฟังดนตรีคลาสสิกชั้นดีต้องไปยุโรปตะวันออก วงออเคสตร้าของออสเตรีย, ฮังการี, รัสเซีย และ เยอรมัน เป็นวงออเคสตร้าที่มีชื่อเสียงเด่นชัดมาช้านาน
Tacet เป็นชื่อสังกัดแผ่นของเยอรมัน เจ้านี้ผมได้ฟังเป็นครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อน ฝีไม้ลายมือเขาไม่เบาทีเดียวในเรื่องของการบันทึกเสียง ดูจากรายละเอียดในแผ่นปกซีดีแผ่นนี้แล้วทำให้รู้สึกว่าเจ้านี้เขามีจุดขายที่ค่อนข้างแหวกแนวกว่าที่อื่น คือแทนที่จะนำเสนอเทคโนโลยีสมัยใหม่เขากลับมุ่งไปเอาของโบราณมาใช้ เนื้อในแผ่นปกกล่าวถึงคอนเซ็ปต์และขั้นตอนในการจัดทำแผ่นซีดีชุดนี้ขึ้นมาซึ่งมีสาระและมุมมองที่น่าสนใจทีเดียว เริ่มด้วยข้อสังเกตที่นาย Andreas Spreer ซึ่งเป็นผู้บันทึกเสียงซีดีแผ่นนี้กล่าวไว้ว่า มากกว่ากึ่งศตวรรษมาแล้วที่ทรานซิสเตอร์เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรา ทุกวันนี้แทบจะไม่มีสิ่งใดเลยที่จะไม่ใช้ทรานซิสเตอร์เป็นส่วนประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์หรือเครื่องใช้กระจุกกระจิกในบ้านเกือบทุกชนิด รวมถึงในวงการออดิโอของเราด้วย คำถามก็คือ: มีอะไรบ้างมั้ย.? ที่หล่นหายไประหว่างทาง.? ถ้ามี,-มันคืออะไร.? และอีกคำถามก็คือ: ถ้าจะทำซีดีโดยไม่ต้องอาศัยทรานซิสเตอร์จะเป็นไปได้หรือไม่.? นาย Andreas Spreer คนนี้แกตั้งท่าเป็นปฏิปักษ์กับทรานซิสเตอร์ตั้งแต่เริ่มเลยครับ เมนไอเดียของแกก็คือแกเชื่อว่าอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่เรียกว่า “ทรานซิสเตอร์” นี้แหละที่เป็นต้นเหตุให้เสียงไม่ดี ตัวแกจึงได้ลงทุนทำการบันทึกเสียงดนตรีแซมเบอร์มิวสิกขึ้นมาด้วยอุปกรณ์ที่ไม่อาศัยทรานซิสเตอร์เลยตลอดเส้นทางของสัญญาณ
เริ่มตั้งแต่ด่านแรกคือ “ไมโครโฟน” แกก็เลือกใช้ไมโครโฟนที่ขยายสัญญาณด้วยหลอดสุญญากาศยี่ห้อ Neumann รุ่น M 49 จำนวน 2 ตัว ซึ่งเป็นไมโครโฟนรุ่นเก่าที่ใช้หลอดเล็กๆ เบอร์ AC 701 ทำหน้าที่ขยายสัญญาณจากไดอะแฟรมที่ส่วนหน้าในการบันทึกเสียง หลังจากนั้นสัญญาณเสียงจะเดินทางเข้าสู่ขั้นตอนที่สองโดยผ่านซาวนด์มิกเซอร์คอนโซลที่สังกัดเขาออกแบบและสร้างขึ้นมาเอง ซึ่งอุปกรณ์ส่วนย่อยในคอนโซลนี้ดังเช่นส่วนของปรีแอมป์รุ่น V72 ก็ใช้หลอดสุญญากาศในส่วนขยายเช่นกัน อุปกรณ์ส่วนอื่นที่สัญญาณเสียงจะต้องผ่านดังเช่นตัวเฟดเดอร์รุ่น W85 ถึงจะไม่ได้ใช้หลอดเป็นภาคขยายเพราะเป็นพาสซีฟ พวกเขาก็เลี่ยงไปใช้ตัวรีซีสเตอร์มาเรียงต่อกันแทน มาถึงตัวเทปบันทึกเสียงพวกเขาก็เลือกใช้รุ่นที่ใช้หลอดสุญญากาศอีกเช่นกัน เป็นเครื่องบันทึกเทปของยี่ห้อ Telefunken รุ่น M5 ซึ่งแต่เดิมนั้นออกแบบมาเป็นแบบโมโน พวกเขาก็เอามาโมดิฟายโดยการเปลี่ยนหัวอัดแบบโมโนออกแล้วใส่หัวอัดแบบสเตริโอเข้าไปแทน รวมถึงเพิ่มเติมอุปกรณ์คอมโพเน้นท์สำหรับสัญญาณอีกแซนเนลหนึ่งเข้าไปด้วย
ขั้นตอนหลังจากการบันทึกเสียงแล้วก็มาเป็นการตัดต่อเพลง (Editing) ซึ่งในสตูดิโอสมัยใหม่นี้มักจะใช้เครื่องมือทีเป็นดิจิตัลกันหมดแล้วสำหรับงานนี้ แต่นาย Andreas แกยังคงใช้วิธีการตัดต่อโดยใช้กรรไกรตัดเอาเทค (take) ที่ไม่ต้องการออก (ในแต่ละเพลงจะทำการบรรเลงไว้หลายเทค) แล้วปะติดกันเข้าโดยใช้เทปกาวธรรมดาเหมือนสมัยที่การอีดิดยังคงใช้แบบอะนาล็อกกันอยู่
มาถึงขั้นตอนการแปลงสัญญาณจากอะนาล็อกเป็นดิจิตัล (A-to-D converter) เพื่อทำมาสเตอร์สำหรับแผ่นซีดี ซึ่งนาย Andreas แกก็ยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ “อาศัย” อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ แต่แกก็หาทางออกโดยการยอมให้สัญญาณแค่ “ผ่าน” อุปกรณ์ A-to-D เฉยๆ โดยไม่ใช้ฟังก์ชั่นจำพวก emphasis/de-emphasis coding หรือ overload protection ฯลฯ บนอุปกรณ์ A-to-D ใดๆ ทั้งสิ้นเพื่อไม่ให้อุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ที่ทำหน้าที่อยู่ในฟังก์ชั่นเหล่านั้นได้มีโอกาสบิดเพี้ยนสัญญาณเสียงแม้แต่น้อย..
ขั้นตอนสุดท้ายที่นาย Andreas กล่าวถึงก็คือขั้นตอน Reproduction ก็คือ ขั้นตอนเล่นกลับ (playback) ซึ่งเขาเขียนไว้ว่าถ้าคุณใช้อุปกรณ์ D-to-A ที่ออกแบบด้วยหลักการเดียวกันกับอุปกรณ์ A-to-D ที่เขาใช้ในการแปลงสัญญาณและใช้แอมปลิฟายหลอดสำหรับภาคขยายของคุณ แค่นี้คุณก็จะได้เสพสมกับอรรถรสของเสียงดนตรีบาโรคที่แท้จริงจากซีดีแผ่นนี้แล้ว.! โอ้.. ช่างน่าตื่นเต้นซะจริงๆ สุดท้ายเขายังทิ้งเทคนิคเล็กๆ ไว้ให้สังเกตตอนฟังอีกข้อหนึ่งด้วย เขาบอกว่าในการบันทึกเสียงงานชุด Sinfonia ของ Sammartini (แทรคที่ 2-4) นั้นเป็นการจัดวางรูปวงออเคสตร้าแบบที่เรียกว่า “german style” ซึ่งต่างไปจากการจัดวางวงแบบชาติอื่น กล่าวคือหมู่ไวโอลินที่ 1 จะอยู่ด้านซ้าย ส่วนไวโอลินหมู่ที่ 2 จะอยู่ด้านขวาและนั่งหันหลังให้ผู้ชมซะด้วย ซึ่ง Andreas กล่าวไว้ว่าคุณจะสามารถฟังออกถึงโทนเสียงของไวโอลินทั้งสองกลุ่มที่แตกต่างกันได้ง่าย ใครมีแผ่นนี้อยู่ก็ลองหยิบขึ้นมาฟังดูทีซิว่าได้ยินอะไรแบบที่เขาว่ารึป่าว.?
วง Stuttgart chamber orchestra ที่บรรเลงในซีดีแผ่นนี้เป็นวงเซมเบอร์ที่บรรเลงโดยไม่ต้องอาศัยคอนดักเตอร์มาชี้นำซะด้วย แสดงว่านักดนตรีแต่ละตำแหน่งจะต้องแม่นยำในตัวโน้ตและท่วงจังหวะอย่างยิ่งถึงจะทำได้ เมื่อนักดนตรีแต่ละคนมีความเก่งกล้าสามารถขนาดนั้นจึงทำให้ลีลาการบรรเลงของวงนี้ออกมากร้าวแกร่งและเด็ดขาดเพราะนักดนตรีมีความมั่นใจสูงนั่นเอง
เป็นแผ่นซีดีเพลงคลาสสิกที่ให้เสียงได้แช่มชื่นฉ่ำหวานมากที่สุดแผ่นหนึ่งที่ผมเคยฟังมาจำได้ว่ามีแผ่นซีดีเพลงคลาสสิกอยู่ 2 แผ่นที่ผมชอบในน้ำเสียงก็คืออัลบั้มชุด Hi-Fi String ของ Denon กับอัลบั้มชุด Serenata ของ Philips ซึ่งทั้งสองแผ่นนี้ให้น้ำเสียงสตริงที่ฉ่ำหวานและพลิ้วพรายมาก แต่เมื่อเทียบกันแล้วซีดีแผ่นนี้ให้เสียงที่ชุ่มชื่นกว่า 2 แผ่นนั้นนิดหน่อย ความถี่ต่ำมีมวลที่หนาและนุ่มตามลักษณะของเสียงแอมป์หลอดเดี๊ยะ.. ฟังแล้วชื่นฉ่ำอุราดีแท้ๆ ครับ
แนะนำเป็นพิเศษสำหรับนักฟังที่ชอบเพลงคลาสสิกยุคบาโรค.
………………………………..
ป้ายกำกับ:
CD Reviews
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น