หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

Tan Dun : Bitter Love / CD (Sony Classical SK 61658)


ALBUM: Bitter Love
ARTIST: Tan Dun
LABEL: 1998 Sony Classical SK 61658

SONG : 10 SOUND : 10
แผ่นธรรมดา- ผลิตในไทย


ได้ฟังอัลบั้มชุดนี้แล้วทำให้ผมรูสึกเป็นห่วงประเทศไทยขึ้นมาตะหงิด ๆ เห็นได้ชัดว่าพัฒนาการทางดนตรีของไทยเราดูจะล้าหลังชนชาติอื่นอยู่มาก คำนวณเล่นๆ เอาแค่เปรียบเทียบกับประเทศไทยในโซนเอเชียด้วยกันอย่างฮ่องกงหรือสิงคโปร์นี่ก็พอแล้ว ผมว่าเราตามหลังเขาอยู่อย่างน้อยก็ 10-20 ปี (แสง) ได้กระมัง ในขณะที่ทั้งคนฟังและคนทำดนตรีในบ้านเรายังย่ำอยู่กับเพลงเก่าเอามาทำใหม่และเพลงที่ยืม (ส่วนใหญ่จะใช้วิธีขโมย) ทำนองต่างชาติมาหากินอย่าง่าย ๆ อย่างทุกวันนี้ เมื่อหันไปดูพัฒนาการของจีน ฮ่องกง และสิงคโปร์เขาแล้วช่างน่าอิจฉาซะจริงๆ ทุกวันนี้เขากำลังทำดนตรีส่งออกไปขายในยุโรปและทั่วโลกกันแล้ว



ผมจะไม่เสียเวลาตำหนิของไทยกันเองมากไปกว่านี้ แต่อยากจะแนะนำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการเพลงในบ้านเราได้เปิดโลกทัศน์ของตนเองให้กว้างขึ้น พยายามสร้างสรรค์ดนตรีที่มีคำว่า “ศิลปะ” ให้มากขึ้น พยายามทำให้มันมีความเป็นสากลให้มากขึ้น ขอโทษครับ...ขออธิบายสักนิด คำว่า “เป็นสากล” ในความหมายของผมไม่ได้หมายถึงเนื้อร้องที่เป็นภาษาต่างด้าวอย่างที่แกรมมี่พยายามที่จะโปรโมทอยู่ทุกวันนี้ และไม่ใช่วิธีการก๊อบปี้รูปแบบดนตรีตะวันตกออกมาทั้งดุ้นแล้วให้นักร้องลูกครึ่งออกมาร้องภาษาไทยแบบครึ่งลูกที่ฟ้งยังไงๆ ก็ไม่รู้ว่าเป็นภาษาไทยหรือภาษาต่างด้าวกันแน่

ทำดนตรีให้เป็นสากลก็คือพยายามเรียบเรียงดนตรีให้ถูกหลักการคอมโพสต์แบบสากลมีการผสมผสานแนวดนตรีสากลเข้าไป (เอาทางของดนตรีมาไม่ใช่ไปลอกเอาทำนองของเขามา) ใช้นักดนตรีที่มีทักษะสูง มีความแม่นยำในการบรรเลงที่ดี มีความเข้าใจอารมณ์และเนื้อหาของดนตรีที่ตนเองต้องบรรเลงอย่างลึกซึ้ง และต้องเป็นนักดนตรีที่มีความช่ำชองในสาขาดนตรีที่ตนถนัดด้วย เพราะดนตรีที่ดีนั้นจะออกมาจากฝีมือการบรรเลงของนักดนตรีรับจ้างราคาถูกแม่นยำในการถ่ายทอดอารมณ์และตัวโน้ตเท่านั้น ไม่ใช่จากมือของนักดนตรีรับจ้างราคาถูกตามห้องอัดคุณภาพต่ำๆหรือจากเครื่องคอมพิวเตอร์ขยะๆ ข้อสำคัญก็คือพยายามเรียนรู้ให้มากและต้องหาวิธีหลีกเลี่ยงแนวทางในการนำเสนอที่ไม่สร้างสรรค์ อย่ามาอ้างว่าตลาดต้องการเพลงแบบนั้น - เพราะนั่นเท่ากับว่าคุณกำลังดูถูกภูมิปัญญาของคนฟังอย่างแรงคุณต้องตระหนักให้มากว่าคุณนั้นเป็นคนสร้างผลงานส่วนคนฟังนั้นเป็นฝ่ายคอยชื่นชมผลงานของคุณ คุณจะต้องมีศักดิ์ศรีและจงมีความภูมิใจในความเป็นศิลปินของตัวเองให้สูงกว่ารายได้จากการขายผลงาน

ผลงานเพลงก็คืองานศิลปะ – ศิลปินก็คือคนสร้างและนำเสนองานศิลปะ – คนฟังก็คือผู้ชื่นชมศิลปะ อย่าอ้างว่าผู้ชื่นชมศิลปะต้องการอย่างนั้นอย่างนี้เพราะคุณเป็นศิลปินไม่ใช่เจ้าของโรงงานผลิตสินค้าที่ต้องผลิตงานออกมาตามความต้องการของตลาด ผมขอวิงวอนให้นึกถึงคำว่า “ศักดิ์ศรีของความเป็นศิลปิน” ให้มากกว่าคำว่า “ผลกำไร” กันสักหน่อยเถอะครับ ถ้ากลัวอดตายก็ไปทำมาหากินอย่างอื่นซะดีกว่า

สองสามย่อหน้าที่ผ่านไปนั้นผมเขียนรวดเดียวโดยไม่ได้หยุดและไม่ได้แก้ไขอะไรเลยเมื่อย้อนกลับมาอ่านอีกทีก็อดรู้สึกไม่ได้ว่าเรานี่ค่อนข้างจะปากจัดเหมือนกันแฮะ.. แต่อย่างไรก็ตามผมต้องการติเพื่อก่อและผมเชื่อว่าศิลปินที่มีศักดิ์ศรีเลือดศิลปินที่เข้มข้นก็ยังคงมีอยู่ซึ่งผมขอเอาใจช่วย และเชื่อเถอะว่าผู้ชมผู้ฟังกำลังจับตาดูผลงานของคุณอยู่เช่นกัน

งานอัลบั้มชุดนี้มีอิทธิพลต่อความรู้สึกของผมมากเป็นพิเศษ และเชื่อว่าถ้าคุณได้ฟังแล้วคุณก็คงจะมีความรู้สึกไม่ต่างไปจากผมเท่าไรนัก งานเพลงแบบนี้ถ้าเป็นฝีมือของฝรั่งก็คงจะไม่เท่าไหร่ แต่นี่เป็นผลงานของชาวเอเชียเชื้อสายจีนใกล้ๆ บ้านเรานี้เอง เป็นผลงานเพลงที่ดัดแปลงมาจากบทละครโอเปร่าเรื่อง Peony Pavilion แปลเป็นไทยก็คงจะออกมาคล้ายๆ กับ “ตำหนักโบตั๋น” หรืออะไรทำนองนี้แหละ คำร้องดั้งเดิมนั้นแต่งโดยกวีชาวจีนชื่อ Tang Xianzu ซึ่งใช้ในการแสดงโอเปร่าในงานเวียนนาเฟสติวัล ในกรุงเวียนนาและที่แคลิฟอร์เนียแต่ในซีดีแผ่นนี้เป็นการตัดตอนและดัดแปลงเป็นภาคภาษาอังกฤษโดย Cyril Birch ส่วนภาคดนตรีนั้นเรียบเรียงและควบคุมการบรรเลงโย Tan Dun ผมไม่แน่ใจว่าเขาเป็นชาวจีนฮ่องกงหรือจีนไต้หวัน

รูปแบบของเพลงเป็นโอเปร่าสมัยใหม่ใช้ผู้ขับร้องผู้หญิงโทนเสียงโซปราโนเป็นเสียงนำดำเนินเรื่องซึ่งรับหน้าที่โดย Ying Huang ชาวจีนเหมือนกัน ลีลาการร้องและน้ำเสียงของเธอนั้นหลุดพ้นความเป็นจีนไปได้พอสมควรแต่หางเสียงของเธอยังคงมีความเป็นงิ้วผสมอยู่บ้างเป็นกระสาย แม้ว่าแก้วเสียงของเธอจะยังไม่เปล่งประกายใสเหมือนคริสตัลอย่างกับเสียงของนักร้องโซปราโนระดับโลก แต่น้ำเสียงที่แฝงไว้ด้วยความโหยหาและวิงวอนของเธอกลับไปกันได้ดีกับแนวของเนื้อเรื่องนี้ ส่วนที่ยังอ่อนด้อยกว่านักร้องโซปราโนของยุโรปก็คือพลังของเสียงที่ยังไม่แน่นเท่า ในเรื่องนี้มีตัวละครที่เป็นคนป่า, พระ และเด็กร่วมอยู่ด้วย ซึ่งถูกนำเสนอแทนโดยใช้เสียงร้องของนักร้องชายในโทนเทอเนอร์มาเสริม ตัว Tan Dun เองนอกจากจะควบคุมการบรรเลงในภาคดนตรีแล้วตัวเขาก็ยังเป็นคนให้เสียงประกอบแทนตัวละครที่เป็นคนป่าด้วย

ภาคดนตรีที่ใช้ประกอบไม่ใช่วงออเคสตร้าเหมือนโอเปร่าในอดีต แต่เป็นดนตรีสมัยใหม่ที่ประกอบด้วยเครื่องดนตรีจำพวกเพอร์คัสชั่น, คีย์บอร์ดไฟฟ้า และแบ็คอัพด้วยกลุ่มนักร้องประสานเสียงของวง New York Virtuoso Singers จะเห็นว่าวงดนตรีที่ใช้ในการบรรเลงนี้เป็นวงดนตรีขนาดเล็กไม่กี่คน ดังนั้นสีสันของดนตรีที่ออกมาจึงไม่มีความสลับซับซ้อนของเส้นสายดนตรีมากนัก แต่ด้วยกรรมวิธีการบันทึกเสียงแบบมัลติแทรคกับเทคนิคการมิกซ์เสียงที่เป็นมวยของซาวนด์เอ็นจิเนียร์ที่ทำงานชุดนี้ ช่วยสร้างซาวนด์สเตจของเสียงให้แผ่ออกไปเป็นปริมณฑลของสนามเสียงที่กว้างขวางเหมือนนั่งชมภาพยนตร์จอกว้างระบบซีเนม่าสโคป 70 มม. มิติเสียงที่ดีเยี่ยมของซีดีแผ่นนี้นี่เองที่ช่วยให้เนื้อหาของบทเพลงมีความเคลื่อนไหวของเรื่องราวที่ชวนติดตาม การจัดวางชิ้นดนตรีแต่ละส่วนให้มีตำแหน่งที่ลดหลั่นสอดสลับซ้าย/ขวา, หน้า/หลัง ช่วยให้เวทีเสียงมีระนาบของความตื้น/ลึกและกว้าง/แคบที่เป็นสามมิติชัดเจน..

เป็นเพลงที่นั่ง “มอง” ภาพของเสียงได้อย่างเด่นชัด...!

มิติด้านลึกดีมาก ด้านกว้างดีเยี่ยม รายละเอียดเสียงสุดยอด ไดนามิกล้นเหลือโดยเฉพาะเสียงทุ้มที่หนักแน่น ให้อิมแพ็คที่กระชับรวดเร็วและรุนแรง ทำให้ผมต้องขอเน้นเรื่องการเซ็ตอัพชุดเครื่องเสียงให้ดีที่สุดในการฟังซีดีแผ่นนี้เนื่องจากว่ามันจะโชว์ศักยภาพที่ยิ่งใหญ่ของเสียงทุ้มออกมาให้คุณสัมผัสได้จะจะก็ต่อเมื่อนำไปเล่นกับซิสเต็มขนาดใหญ่และจะลดหย่อนประสิทธิภาพลงมาบ้างตามขนาดของลำโพงของคุณ

คนบันทึกเสียงอัลบั้มชุดนี้ชื่อ Richard King ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าแกจะใช่คนเดียวกันกับเจ้าของสตูดิโอที่ชื่อ King Studio ในฮ่องกงหรือเปล่า..? แต่จะใช่หรือไม่ใช่ก็ตามยังไงก็สมควรที่จะต้องยกเครดิตให้กับแกด้วยเพราะคุณภาพเสียงแต่ละด้านออกมาถูกใจออดิโอไฟล์ซะเหลือเกิน เป็นแผ่นซีดีที่ผมเชื่อว่าทุกคนที่เล่นเครื่องเสียงฟังแล้วต้องชอบ บอกให้ก็ได้ว่ามันเป็นแผ่นหนึ่งในดวงใจของผมเลยล่ะครับ...!

การบันทึกเสียงกระทำที่สตูดิโอบันทึกเสียงระดับโลก 2 แห่งคือที่ The Hit Factory และ Avatar Studios ในอเมริกา ใช้มาตรฐาน 24 บิตในกระบวนการบันทึกเสียง ซึ่งผมเคยทดลองฟังโดยใช้ตัวปรับแชมปลิ้งเรท/เวิร์ดเร้นจ์ของ dCS รุ่น Purcell ยกระดับแชมปลิ้งฯกับเวิร์ดเร้นจ์ของซีดีแผ่นนี้จาก 16/44.1 ขึ้นมาเป็น 24/96 ก่อนที่จะแปลงเป็นสัญญาณอะนาล็อกปรากฏว่าสุ้มเสียงดีขึ้นอย่างมาก เมื่อนำซีดีแผ่นนี้ไปเล่นผ่านเครื่องเล่นซีดีที่ใช้ชิพแปลงสัญญาณขนาด 24 บิต (เช่น NAD / S500 และ Meridian / 506.24) จะให้น้ำเสียงออกมาดีกว่าเครื่องเล่นซีดีที่ใช้ชิพที่มีความละเอียดต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัด สิ่งที่สังเกตได้อย่างชัดเจนก็คือไดนามิก, รายละเอียด และความกระชับของจังหวะดนตรี

เป็นแผ่นซีดีที่ผมอยากจะแนะนำให้คนที่เปิดกว้างสำหรับดนตรีที่มีคุณภาพและมีความเป็นศิลปะระดับสูงได้ทดลองเสพดู มันไม่ใช่แผ่นตลาด ๆ ที่จะฟังกันง่าย ๆ รูหูอย่างพ็อพหรือแจ๊ส แต่มันเป็นงานศิลปะที่ต้องฟังด้วยใจและจิตวิญญาณ เมื่อถึงเวลาที่จิตใจของคุณสามารถต่อเชื่อมเข้ากับบทเพลงในซีดีแผ่นนี้ได้อย่างกลมกลืนแล้ว เมื่อนั้นมันจะดึงคุณเข้าไปสู่โลกของจินตนาการที่ลึกล้ำอย่างที่เพลงตลาด ๆ ไม่อาจจะทำได้...!!

เป็นแผ่นที่ผมฟังบ่อยที่สุดแผ่นหนึ่งครับ.

...............................................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น