แนะนำ + วิจารณ์ ดนตรีบนสื่อบันทึกทุกชนิด รวมถึงดิจิตัลไฟล์ที่เน้นคุณภาพเสียงและความเป็นดนตรี
วันจันทร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
Louis Armstrong & Duke Ellington : Recording Together for the First Time / LP (CLASSIC RECORDS SR52074)
ALBUM Recording Together for the First Time
ARTIST Louis Armstrong & Duke Ellington
LABEL Roulette Records/reissued by Classic Records
Record Number SR52074
SONG: 10 SOUND: 9
Made in USA
อัลบั้มชุดนี้เป็นการทำงานร่วมกันเป็นครั้งแรกระหว่างสองสุดยอดฝีมือแห่งโลกดนตรีแจ๊สในยุคสมัยเมื่อสี่สิบปีที่ผ่านมา (อัลบั้มชุดนี้ทำการบันทึกเสียงในปี 1961) ทางฝั่งหลุยส์ อาร์มสตรองนั้นได้รับการยกย่องว่าเป็นศิลปินเพลงแจ๊สที่มีความเก่งกาจมากผู้หนึ่ง เขามีความสามารถในการเป่าทรัมเป็ตที่ดีเยี่ยม แถมยังมีความสามารถในการขับร้องอีกด้วย เสียงร้องของหลุยส์ อาร์มสตรองมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใครได้ฟังเสียงร้องของเขาแล้วก็ต้องยอมรับในความเก่งกาจของเขาล่ะครับ ว่าสามารถทำให้ลักษณะของเสียงร้องที่แหบแห้งออกมาน่าฟังได้
ถ้ามองข้ามลักษณะเสียงที่แหบแห้งของเขาไปซะ แล้วปล่อยอารมณ์ให้ล่องลอยไปกับเสียงร้องของเขา คุณจะพบว่า ภายใต้ลักษณะของเสียงร้องที่แหบแห้งนั้น มันมีสถานะของอารมณ์ที่มั่นคงเป็นตัวขับเคลื่อนอยู่โดยตลอด และเมื่อสามารถจับต้องแก่นในของเสียงร้องของหลุยส์ได้แล้ว คุณจะรู้สึกได้ทันทีว่า น้ำเสียง (และลักษณะการขับร้องของเขา) มันมีความอบอุ่น อาทร และปลอบประโลมอยู่ในที
ฟังแล้วจะรู้สึกผ่อนคลาย ไม่ระแวง สงบและเป็นสุข..
ถ้าไม่เชื่อผม ลองฟังเพลง Mood Indigo กับเพลง I’m just a Lucky so and so แทรคที่ 4 กับแทรคที่ 2 ในหน้า A ดูเหอะ เพลง Mood Indigo ในแผ่นเสียงชุดนี้เป็นเวอร์ชั่นที่หลุยส์กับดุ๊คร่วมกันเรียบเรียงขึ้นมาใหม่เพื่อใช้ในการบันทึกเสียงครั้งนี้โดยเฉพาะ เดิมนั้นเป็นเพลงที่ดุ๊ค เอลลิงตั้นแต่งไว้เพื่อบรรเลงกับวงของเขา
ส่วนดีของแผ่นเสียงชุดนี้นอกจากบทเพลงแล้ว ก็คงจะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึงคุณภาพเสียงซะไม่ได้ เพราะทุกเพลงทุกแทรคที่ได้ฟังมันฟ้องให้เห็น (ได้ยิน) ถึงความเป็นที่สุดของการบันทึกเสียงออกมาอย่างชัดเจน.!
ผมเชื่อเลยว่า ถ้าจุดประสงค์ของการบันทึกเสียงก็คือพยายามจับเอาสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ ในสตูดิโอที่ใช้ในการบรรเลงออกมาให้ได้มากที่สุด ผมก็ต้องบอกว่า Ray Hall ซึ่งเป็นซาวนด์เอ็นจิเนียร์ให้กับอัลบั้มชุดนี้ทำงานของเขาออกมาได้ตรงตามจุดประสงค์เหล่านั้นทุกประการ เพราะสิ่งที่ผมได้ยิน ไม่ใช่แค่เสียงดนตรีที่มีความชัดเจนเพียงอย่างเดียว แต่มันมีความกลมกลืนของอารมณ์และความรู้สึกสัมผัสได้ (เลาๆ) ถึงบรรยากาศของการบรรเลงที่แผ่ซ่านออกมาโดยรอบบริเวณที่นั่งฟังอยู่ด้วย..
เป็นประสบการณ์ที่ทำให้รู้สึกเหมือนได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้น (งานชุดนี้ทำการบันทึกเสียงกันทั้งหมด 2 เซสชั่น เซสชั่นแรกเริ่มเมื่อวันที่ 3 เดือนเมษายน ปีค.ศ. 1961 ส่วนเซสชั่นที่สองก็ถัดมาอีกหนึ่งวันจากนั้น)
Roy Hall เก็บเสียงดนตรีแต่ละชิ้นออกมาได้เยี่ยมมาก มันมีออกมาพร้อมทั้งรายละเอียดที่เด่นชัดและบรรยากาศที่ห่อหุ้ม เสียงเครื่องดนตรีทุกชิ้นมีความกระจ่าง เคลียร์ แม้กระทั่งในเพลงที่มีเครื่องดนตรีบรรเลงพร้อมๆ กันหลายชิ้นก็ยังให้การแยกแยะได้ชัดเจน ไม่มีมั่ว ไม่มีสับสนสักนิดเดียว ไดนามิกเร้นจ์ก็กว้างขวาง ให้การสวิงของเสียงที่มีความเป็นธรรมชาติพอสมควร แม้ว่าเนื้อมวลของเสียงเบสออกจะบางไปนิด แต่ก็ได้ยินครบทั้งหัวโน้ตและหางฮาร์มอนิกของมัน เสียงกลองกระจ่าง กระชับและเปิดเผย ไม่มีอาการอั้น ไม่อับทึบ เสียงเครื่องเป่าทั้งหลาย (ในอัลบั้มชุดนี้มีทั้งทรัมเป็ต, สไลด์ และคลาริเน็ต) แทรคที่โชว์เสียงเครื่องเป่าได้ดีมากๆ ก็คือแทรคแรกหน้า B ชื่อเพลง The Beautiful American คุณจะได้ยินลักษณะความเป็นธรรมชาติของเครื่องเป่าแต่ละชนิดปรากฏออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งต่อให้เป็นคนที่ไม่มีความคุ้นเคยกับเสียงเครื่องเป่าเหล่านี้มามากนักก็ยังสามารถระบุแยกแยะประเภทของเครื่องเป่าเหล่านั้นออกมาได้โดยไม่ยากเย็นอะไร
เสียงเปียโนของดุ๊ค เอลลิงตั้นก็บันทึกออกมาได้ดีไม่มีที่ติจริงๆ เสียงเม็ดเปียโนมีความใส และให้เนื้อที่เข้มข้น ไม่บาง อิมแพ็คดีเยี่ยม ให้น้ำหนักของปลายนิ้วที่ละเอียด สามารถแสดงลำดับอ่อน-แก่ของพลังที่พรมผ่านปลายนิ้วลงไปบนคีย์ออกมาได้อย่างชัดเจน ถ้าหาว่าผมโม้ก็ลองฟังท่อนขึ้นต้นเพลง The Mooche (แทรคที่ 4 หน้า B) ดูเองเหอะ นอกจาก ตัวเสียงที่ใสและลอยออกมาเป็นเม็ดๆ แล้ว คุณจะรู้สึกได้อีกว่า พื้นที่รอบๆ เสียงเปียโนในท่อนนั้นมีมวลของบรรยากาศที่อบอวลอยู่ด้วย ไม่ใช่มีแต่เสียงเปียโนลอยโดดออกมาจากพื้นแบ็คกราวนด์ที่มืดดำ แต่เป็นเสียงของเปียโนที่ล่องลอยอยู่ในบรรยกาศที่มีความสลัวของมวลแอมเบี๊ยนต์เจือจางคละคลุ้งอยู่โดยรอบ
คำจำกัดความในลักษณะของเสียงโดยรวมของแผ่นเสียงชุดนี้สำหรับผมก็คือ ‘เสียงดนตรีที่มีชีวิต’ ครับ.
………………………………………………………..
ป้ายกำกับ:
LP Reviews
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น